วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดความรู้การดูแลรักษาบ้าน

เกร็ดความรู้การดูแลรักษาบ้าน




1. การต่อเติมบ้าน  
ในการต่อเติมบ้านที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกให้กับโครงสร้างของตัวอาคาร ซึ่งวิศวกรได้คำนวณขนาดของโครงสร้างไว้รับน้ำหนักเฉพาะที่ออกแบบไว้ตามแบบเท่านั้น การต่อเติมบ้านจึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านเกิดการทรุดตัว หรือโครงสร้างเกิดการแตกร้าว ดังนั้นจึงควรปรึกษาวิศวกรก่อนทำการต่อเติม และต้องปฎิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังนี้
ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ที่ดิน บ้าน 2 ชั้น ผนังบ้านด้านที่อยู่ชิดบ้านหลังอื่น ที่มีช่องเปิด ประตู หน้าต่าง ต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร ถ้าเป็นผนังทึบ ไม่มีช่องเปิด สามารถสร้างห่างเขตที่ดินได้น้อยกว่า 2 เมตร แต่ถ้าห่างเขตที่ดินน้อยกว่า 50 เซ็นติเมตร ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินด้านนั้นด้วย

2. พื้นที่จอดรถ  พื้นที่จอดรถเป็นโครงสร้างที่ไม่มีเสาเข็มรองรับ เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่วางอยู่บนดินโดยตรง ซึ่งจะเกิดการทรุดตัวไปตามการทรุดตัวของดินตามธรรมชาติ เมื่อใช้งานไประยะเวลานานๆ อาจจะเกิดรอยแตกที่รอยต่อของคอนกรีตระหว่างตัวบ้านและพื้นที่จอดรถบ้าง ซึ่งในการซ่อมแซมอาจจะใช้ปูนซีเมนต์อุดตามรอยแตกที่เกิดขึ้น

3. กระเบื้องเซรามิค กระเบื้องเซรามิคสำหรับการปูพื้นและผนัง เป็นวัสดุที่นิยมใช้กันทุกหลังคาเรือน เนื่องจากมีความสวยงาม ก่อสร้างง่าย มีระดับราคาให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับคุณภาพและลวดลายของกระเบื้อง
วิธีการดูแลรักษา ต้องระวังพยายามอย่าให้ของที่มีน้ำหนักตกกระทบ เพราะจะทำให้กระเบื้องแตกร้าวได้ การทำความสะอาดให้ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาบิดให้หมาดๆเช็ดถู กรณีในห้องน้ำการใช้น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำที่มีฤทธิ์รุนแรงเกินไป อาจจะทำลายปูนซีเมนต์ขาวที่ใช้ยาแนวกระเบื้อง จนทำให้น้ำซึมเข้าใต้แผ่นกระเบื้องได้
การซ่อมแซมกระเบื้องที่แตกร้าว ให้สกัดกระเบื้องแผ่นที่แตกออก ทำความสะอาดผิวคอนกรีตด้านล่าง ติดกระเบื้องแผ่นใหม่โดยใช้ปูนกาวสำหรับติดกระเบื้อง แล้วยาแนวรอยต่อของแผ่นกระเบื้องด้วยปูนซีเมนต์ขาว

4. ไม้ปาร์เก้ไม้ปาร์เก้เป็นวัสดุที่ทำจากธรรมชาติ นิยมนำมาใช้ปูพื้นบ้าน พื้นไม้ปาร์เก้ส่วนใหญ่จะมีการเคลือบเงาบนผิวไม้เป็นการรักษาเนื้อไม้และทำให้แลดูสวยงาม
วิธีดูแลรักษา ควรระมัดระวังเรื่องความชื้น เพราะความชื้นจะทำให้พื้นปาร์เก้บวม โปร่งพอง และน้ำที่ซึมลงไปใต้แผ่นไม้ปาร์เก้ จะทำให้กาวที่ยึดปาร์เก้กับพื้นด้านล่างเสื่อมคุณภาพ ทำให้ปาร์เก้หลุดล่อน ดังนั้นถ้าทำน้ำหกใส่บนพื้นไม้ปาร์เก้ หรือโดนน้ำฝน ควรรีบเช็ดให้แห้ง และอย่าลากเฟอร์นิเจอร์กับพื้น เพราะจะทำให้พื้นไม้เป็นรอย ควรใช้การยกแทน
การทำความสะอาด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดถูบนพื้นไม้ หากพื้นไม้ไม่ค่อยเงางาม ให้ใช้ขี้ผึ้งเคลือบเงาทับ
5. หินแกรนิตแกรนิตเป็นวัสดุธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้ในการปูพื้นและผนัง แต่ค่อนข้างมีราคาแพง นิยมใช้ตกแต่งทั้งบ้านและสำนักงาน
วิธีดูแลรักษา ระมัดระวังไม่ให้ถูกสิ่งสกปรกที่สามารถซึมลงไปในเนื้อหินได้ เช่น คราบสีฝุ่น, คราบยางไม้ เพาะจะไม่สามารถเอาคราบสกปรกนั้นออกมาได้
การทำความสะอาด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดถู โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดใดๆ

6. หินอ่อนหินอ่อนเป็นวัสดุธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้ในการปูพื้นและผนังเหมือนหินแกรนิต
วิธีดูแลรักษา ระมัดระวังไม่ให้ถูก น้ำยาฟอกสี และผงซักฟอก เพาะจะทำให้หินอ่อนมีรอยด่าง และหินอ่อนเป็นหินที่อ่อนจึงไม่ควรนำวัสดุเนื้อหยาบมาขัดถู
การทำความสะอาด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ และเช็ดถู โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดใดๆ

7. Wall Paperวิธีดูแลรักษา ควรระมัดระวังเรื่องความชื้น เพราะความชื้นจะทำให้ Wall Paper โปร่งพอง หรือขึ้นรา ดังนั้นถ้าทำน้ำหกใส่ Wall Paper หรือโดนน้ำฝน ควรรีบเช็ดให้แห้ง
การทำความสะอาด Wall Paper จากฝุ่นละอองต่างๆ ทำได้โดยใช้ไม้กวาดหรือไม้ปัดขนไก่ปัดทำความสะอาดหรือใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดก็ได้ แต่หากดูแล้วยังไม่สะอาดจำเป็นต้องใช้การเช็ดถู ต้องทำการทดลองก่อนว่า Wallpaper ที่ใช้อยู่เป็นชนิดที่สามารถเช็ดถูด้วยน้ำได้หรือไม่ โดยทดลองเช็ดถูด้วยน้ำในบริเวณเล็กๆ ก่อนว่ามีรอยด่างหรือไม่ หากไม่เกิดรอยด่างแสดงว่าเป็นชนิดที่สามารถเช็ดถูด้วยน้ำได้
         หาก Wall Paper เป็นชนิดที่เช็ดถูด้วยน้ำไม่ได้และเกิดรอยด่างเป็นดวงๆ ให้ใช้ครีมที่ทำความสะอาด Wall Paper โดยเฉพาะ จะสามารถแก้รอยด่างได้ ส่วนถ้าเกิดรอยดำจากเชื้อรา จะไม่สามารถเช็ดถูออกได้ วิธีแก้ไขคือต้องทำการลอกส่วนที่เป็นเชื้อราออก และทำการปิด Wall Paper ใหม่

8. ประตู - หน้าต่าง วิธีดูแลรักษา ควรระมัดระวังไม่ให้บานประตู เปิดปิดอย่างรุนแรง เพราะลูกบิดอาจจะไปชนถูกผนังรอยเดือยของลูกบิดอาจจะเคลื่อน ทำให้เปิดปิดประตูยากขึ้น และไม่ควรให้เด็กห้อยโหนลูกบิดประตูเล่น นอกจากจะเกิดอันตรายแล้วยังทำให้ลูกบิดเสียและตัวบานพับหลวม ส่งผลทำให้ตัวบานตก ประตูจะฝืดขณะเปิดปิด
         หากเป็นประตู – หน้าต่าง ที่เป็นลูกฟักกระจก เมื่อใช้งานไปเป็นระยะเวลานานๆ ขณะฝนตกอาจจะมีน้ำซึมเข้าตามขอบกระจก เนื่องจากซิลิโคนที่ใช้อุดร่องรอยต่อระหว่างกรอบบานไม้และกระจกเสื่อมสภาพ หรือหลุดล่อน ให้ลอกซิลิดคนเก่าออกแล้วอุดซิลิโคนใหม่เข้าไป
การทำความสะอาด บานประตูและบานหน้าต่างทำจากวัสดุหลัก 2 ประเภทคือ ตัวบานที่ทำจากไม้กับตัวบานที่ทำจากพลาสติก แต่การดูแลรักษาประตูหน้าต่างจะไม่ค่อยแตกต่างมากนักคือ หากมีคราบสกปรกใช้ผ้าแห้งหรือชุบน้ำสะอาดหมาดๆ เช็ดถู

9. ดวงโคมดวงโคมที่ใช้งานทั่วๆ ไป จะมีอยู่ 2 ชนิดคือ ดวงโคมที่ใช้หลอดนีออน เช่น ดวงโคมซาลาเปาซึ่งใช้หลอดนีออนกลม และดวงโคมนีออนยาว ชนิดที่ 2 คือ ดวงโคมที่ใช้หลอดไส้ เช่น ดวงโคมดาวน์ไลท์
          สำหรับดวงโคมที่ใช้หลอดนีออน จะมีอุปกรณ์หลักๆ อยู่ภายใน 3 อย่างคือ หลอดนีออน สตาร์ทเตอร์ และ บาลลาส ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีอายุการใช้งานที่จำกัด เมื่อหมดอายุการใช้งานจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งอุปกรณ์ที่ต้องเปลี่ยนค่อนข้างบ่อยคือหลอดนีออนและสตาร์ทเตอร์ วิธีการสังเกตว่าหลอดนีออนหมดอายุการใช้งานให้ดูที่ขั้วหลอดถ้าขั้วหลอดมีสีดำแสดงว่าหลอดหมดอายุการใช้งานแล้ว ให้ถอดออกเปลี่ยนใหม่ การถอดหลอดนีออนกลม ให้ดึงปลั๊กสายไฟออกจากตัวหลอด จากนั้นจึงดึงหลอดออกจากที่ยึด การถอดหลอดนีออนยาวให้ดันตัวหลอดไปที่ขั้วข้างใดข้างหนึ่ง จนอีกข้างหลุดออกจากขั้ว แล้วจึงดึงหลอดออกมา สำหรับสตาร์ทเตอร์ ถ้าเปิดสวิทซ์ไฟแล้วสตาร์ทเตอร์ไม่ทำงานไฟจะไม่ติด ให้ตรวจสอบหลอดไฟ ถ้าหลอดปกติให้ลองเปลี่ยนสตาร์ทเตอร์ วิธีการเปลี่ยนสตาร์ทเตอร์ให้หมุนตัวสตาร์ทเตอร์เล็กน้อย จนหลุดจากที่ล็อคแล้วจึงดึงสตาร์ทเตอร์ออกมา
สำหรับดวงโคมที่ใช้หลอดไส้ วิธีการสังเกตว่าหลอดหมดอายุการใช้งานให้ดูที่ไส้หลอด ถ้าไส้หลอดขาด ให้ถอดออกเปลี่ยนใหม่ การถอดหลอดไฟในกรณีที่เป็นแบบขั้วเกลียว ให้หมุนหลอดไฟจนหลอดหลุดออกจากขั้ว

10. ถังเก็บน้ำถังเก็บน้ำโดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบตั้งอยู่บนดิน ซึ่งทำจากวัสดุประเภท สเตนเลส ไฟเบอร์กลาส หรือ PE (Poly Ethylene) และแบบฝังใต้ดิน ซึ่งทำจากวัสดุประเภท ไฟเบอร์กลาส หรือ PE (Poly Ethylene) ภายในตัวถังจะมีวาล์วเปิดปิดน้ำอัตโนมัติโดยใช้ระบบลูกลอย ซึ่งเมื่อไม่มีน้ำในถังลูกลอยจะตกลงทำให้วาล์วเปิดน้ำจะไหลเข้าถัง และเมื่อน้ำเต็มถังระดับน้ำจะดันลูกลอยขึ้นทำให้วาล์วปิดน้ำจะหยุดไหล ซึ่งถ้าลูกลอยเสียอาจจะทำให้น้ำไหลเข้าถังตลอดเวลาจนน้ำล้นถัง หรือไม่มีน้ำไหลเข้าถังเลย วิธีการตรวจสอบให้ใช้มือยกลูกลอยขึ้นลง ดูการเปิดปิดของวาล์ว ถ้าวาล์วไม่ทำงานแสดงว่าลูกลอยเสีย ให้ถอดออกเปลี่ยนชุดลูกลอยใหม่

11. ถังบำบัดน้ำเสียถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป จะใช้แบคทีเรียในการย่อยสลายสารอินทรีย์ น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลลงบ่อพัก แล้วระบายลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งถ้ามีการใช้น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำในปริมาณมากเกินไป จะทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในถังบำบัดถูกทำลาย

12. ปั๊มสูบน้ำระบบการทำงานของปั๊มสูบน้ำ จะสูบน้ำจากถังเก็บน้ำขึ้นไปจ่ายบนตัวบ้าน โดยจะทำงานอัตโนมัติด้วยสวิทซ์แรงดัน หมายถึงเมื่อเปิดก็อกน้ำ จะทำให้แรงดันในเส้นท่อลดลงสวิทซ์จะเปิดให้ปั๊มทำงาน และเมื่อปิดก๊อกน้ำปั๊มจะอัดน้ำเข้าเส้นท่อจนมีแรงดันเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง สวิทซ์จะปิด ปั๊มจะหยุดทำงาน ซึ่งถ้าบางจุดเกิดท่อแตก ท่อรั่ว หรือลูกลอยของชักโครกบางตัวเสีย ไม่ปิดน้ำเมื่อน้ำเต็มหม้อน้ำ ทำให้น้ำล้นลงในชักโครกตลอดเวลา ปั๊มจะทำงานไม่หยุด ต้องทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อน ปั๊มจึงจะทำงานเป็นปกติ
         อนึ่งถ้าเปิดก๊อกน้ำแล้วปั๊มไม่ทำงาน หรือปั๊มทำงานแต่มีเสียงดังผิดปกติ ให้ตามช่างเข้าไปตรวจสอบ

13. อ่างล้างหน้าอ่างล้างหน้าจะมีที่ดักกลิ่นโดยใช้ระบบการขังตัวของน้ำภายในท่อเพื่อกันไม่ให้กลิ่นจากด้านล่างผ่านขึ้นมา ซึ่งโดยทั่วไปมีใช้อยู่ 2 แบบ คือ แบบข้องอ และแบบกระปุก ซึ่งถ้ามีสิ่งสกปรกตกลงไปอาจจะไปขังที่ส่วนนี้ ทำให้ระบายน้ำไม่ได้หรือระบายได้ช้า วิธีการแก้ไขต้องถอดท่อส่วนดักกลิ่นออก ซึ่งออกแบบไว้ให้ถอดออกทำความสะอาดได้ โดยให้ขันเกลียวที่ยึดส่วนดักกลิ่นออกทั้ง 2 ด้าน ฉีดน้ำล้างสิ่งสกปรกที่อยู่ภายในออก แล้วประกอบกลับเข้าไปตามเดิม ซึ่งที่เกลียวยึดท่อจะมีแหวนยางสำหรับป้องกันการรั่วซึม ถ้าแหวนยางเสื่อมคุณภาพ จะทำให้น้ำรั่วซึมออกจากรอยต่อ ต้องเปลี่ยนแหวนยางใหม่

14. ชักโครกชักโครกจะมีหม้อน้ำสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้งาน ซึ่งการเปิดปิดน้ำของหม้อน้ำจะเป็นระบบอัตโนมัติ โดยใช้ลูกลอย เหมือนถังเก็บน้ำ และมีระบบน้ำล้นลงในตัวชักโครกเอง ซึ่งถ้าระบบลูกลอยเสีย อาจจะทำให้วาล์วไม่ปิดเมื่อน้ำเต็มถัง ซึ่งจะทำให้น้ำล้นลงไปที่ตัวชักโครกตลอดเวลา วิธีแก้ไขต้องซ่อมระบบลูกลอยหรือเปลี่ยนชุดลูกลอยใหม่

15. สายฉีดชำระ  สำหรับอายุการใช้งานของฝักบัวฉีดชำระ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละบุคคล เนื่องจากเป็นวัสดุประเภทพลาสติก ดังนั้น การใช้งานจึงไม่ควรทำตกกระแทกพื้นบ่อยครั้ง ซึ่งอาจทำให้มีรอยร้าวที่ก้านกดน้ำและเป็นผลให้หักได้ในเวลาต่อมา จะเห็นได้ว่าก้านพลาสติกที่เป็นตัวกดน้ำนี้มักจะแตกหักเสียหายก่อนชิ้นส่วนอื่นเสมอ และหากชำรุดก็ต้องซื้อหัวฉีดชำระมาเปลี่ยนใหม่ การถอดเปลี่ยนให้ใช้ประแจคอม้า หรือคีมขันเกลียวที่ยึดหัวฉีดชำระออก แล้วใส่ของใหม่ทดแทนเข้าไป โดยใส่ประเก็นยางเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมแล้วจึงขันหัวเกลียวให้แน่นพอประมาณ

16. ระบบท่อระบายน้ำ 
ระบบท่อระบายน้ำของตัวบ้านทั้งในส่วนของท่อระบายน้ำที่พื้น ท่อระบายน้ำจากอ่างล้างหน้าและอ่างอาบน้ำ ท่อส้วม ในกรณีที่ท่ออุดตันจะมีที่เปิดสำหรับเอาสิ่งสกปรกออก (Clean Out) โดยสามารถขันเกลียวเปิดปลายท่อออกได้ สำหรับชั้นล่างจะอยู่ที่พื้นห้องน้ำ ส่วนชั้นบนจะอยู่บนฝ้าเพดานชั้นล่าง

17. รั้วเหล็ก
รั้วเหล็กภายนอกบ้าน เมื่อโดนแดดโดนฝนเป็นระยะเวลานานๆ สีกันสนิมที่ทาไว้เดิมอาจจะเสื่อมคุณภาพลงตามกาลเวลา อาจจะเกิดสนิมขึ้นบางจุดและจะลามต่อเนื่องกัดกินเนื้อเหล็กไปเรื่อยๆ ต้องทำการทาสีกันสนิมใหม่ ก่อนที่โครงสร้างของเหล็กจะเสียหายมากโดยขัดสีเดิมที่หลุดล่อนออกก่อน แล้วจึงทาสีใหม่ทับลงไป เพื่อสีที่ทาลงไปใหม่จะได้ยึดเกาะกับผิวเหล็กได้ดี ทำให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

18. ระบบกำจัดปลวก  
ระบบกำจัดปลวกโดยวางท่อน้ำยาเคมี เป็นระบบที่วางท่อสำหรับฉีดน้ำยาเคมีไว้ใต้ตัวบ้าน โดยติดตั้งหัวฉีดตามท่อไว้เป็นจุดๆ ให้สามารถกระจายน้ำยาเคมีได้เต็มพื้นที่ และทิ้งปลายท่อสำหรับอัดน้ำยาไว้นอกตัวบ้าน ในกรณีที่น้ำยาที่ฉีดไว้เดิมเสื่อมสภาพสามารถฉีดน้ำยาลงไปใหม่ได้โดยไม่ต้องเจาะพื้นบ้าน
         ในกรณีที่อยู่ในอายุการรับประกัน บริษัทกำจัดปลวกจะเข้ามาตรวจสอบให้เป็นระยะ ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในใบรับประกัน หรือหากตรวจพบปลวกในบ้านสามารถโทรแจ้งบริษัทกำจัดปลวก ให้ส่งพนักงานมาตรวจสอบและกำจัดปลวกได้

เขียนโดย มานะ สุวรรณ www.maneerin.blogspot.com

บ้านน็อคดาวน์ผ่อนได้

บ้านน็อคดาวน์ผ่อนได้

บ้านน็อคดาวน์ผ่อนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น